วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พินิจมนุษย์สนทนา

อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังคำพูด อันที่จริงทั้งอยู่คนเดียวและอยู่กับผู้อื่นต้องระวังทั้งความคิดและคำพูด ทั้งสองสอดประสานกันและใช้สิ่งเดียวกันเป็นสื่อ คือ ถ้อยคำ เราคิดเป็นถ้อยคำ เราพูดเป็นถ้อยคำ ในเวลาที่เราตื่นอยู่ แทบจะไม่มีเวลาใดที่ไม่มีถ้อยคำในความสำนึกรู้ของเรา เราสนทนากับตัวเราเองอยู่เสมอ มีผู้ทำวิจัยว่าเราใช้ถ้อยคำกับตนเองในวันหนึ่งประมาณ 55,000 คำ (หนังสือ "คุณเปลี่ยนได้" อมิตา อริยอัชฌา ห้างหุ้นส่วนสามัญมันนี่แอนด์มอร์ กรุงเทพ กรกฎาคม 2552 หน้า 24) และถ้อยคำนั้นเป็นไปในทางลบ 77 % (หรือ สี่หมื่นสองพันสามร้อยห้าสิบคำ) หากเราสนทนากับตัวเองด้วยถ้อยคำลบแล้ว การสนทนากับคนอื่นนั้นจะเป็นทำนองเดียวกันหรือไม่ สิ่งที่เราสนทนากับตนเองจะฝังอยู่ในเราและสะท้อนออกมาเมื่อได้จังหวะและเวลาใช่ไหม
ความคิดของเราวนเวียนอยู่กับถ้อยคำเหล่านั้น ในสำนึกเราอาจบอกว่าเราไม่ชอบสิ่งเหล่านี้เลย ไม่ชอบที่จะคิดลบเราคิดเรื่องดีๆ เสมอ ลองสังเกตุดู เมื่อเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมเราจะไม่หลุดออกจากสิ่งที่เป็นเรื่องดีๆ แต่เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามาเราอดที่จะโกรธไม่ได้ ทั้งที่เราว่าเราปฏิบัติธรรมยึดคำสอนของพระท่านที่ว่า "เหตุสมควรโกรธ...ไม่มีในโลก" (Webpage "เหตุสมควรโกรธ… ไม่มีในโลก" พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก วัดสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี http://www.km.egat.co.th/blog/?q=node/61) แต่เราโกรธไปแล้วพึ่งนึกได้ทุกครั้ง
บางครั้งในความดีก็มีความไม่ดีอยู่ ในการคิดบวกก็มีการคิดลบอยู่ มันเป็นของคู่กันเป็นธรรมดาโลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น หากเรายังติดกับดักความดีและไม่ดี บวกและลบ... เราเพียงก้าวย่างบนทางขนานที่เชื่อมกันอยู่ เมื่อใดที่เราก้าวออกจากการตัดสินว่า ดี ไม่ดี บวก ลบ  เราจะผ่านออกมาจากการตัดสินนั้น ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เข้ามาในพื้นที่เพื่อเรียนรู้โดยไม่ตัดสิน ไม่ดูถูกดูแคลนสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาให้บทเรียนกับเรา และสำคัญอย่างยิ่งเราไม่กลัวที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพราะดีหรือไม่ดี บวกหรือลบ ชอบหรือชัง กล้าหรือกลัว
คุณชอบดูละครไหม ในละครมีการสนทนามากมายหลายแบบ แบบต่างๆ นั้นเป็นการสนทนาของมนุษย์ที่มีมาช้านานแล้ว ละครและชีวิตจริงก็ไม่ต่างกัน คุณเองก็สนทนาอยู่เสมอในแบบต่างๆ กับคนต่างๆ  แม้บางครั้งไม่ได้สนทนาเองคุณก็เป็นผู้ดูการสนทนา คุณเคยดูการสนทนาที่ฟังไม่รู้เรื่องในถ้อยคำไหม ลองดูละครต่างประเทศของประเทศที่คุณไม่เข้าใจถ้อยคำและไม่มีคำบรรยายในถ้อยคำของคุณ ไม่มีบริบทที่คุณคุ้นเคย โปรดเฝ้าดูคุณเห็นอารมณ์ความรู้สึกไหม โปรดดูตนเองเมื่อคุณไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับละครที่ดำเนินอยู่นั้น ละครที่สื่อด้วยถ้อยคำจะสื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คุณได้ไหม ความว่างเปล่าเมื่อไม่เข้าใจถ้าคุณตั้งใจสังเกตุตัวตนของคุณ คุณจะเรียนรู้ได้มากขึ้นเมื่อพื้นที่เปิดและคุณกระหายที่จะเข้าใจมัน ทีนี้คุณลองกลับมาดูการสนทนาในแบบที่เป็นภาษาของคุณ ด้วยถ้อยคำที่เป็นสิ่งที่คุณรับฟังในภาษาของคุณ แต่คุณกลับอุทานว่า"พูดอะไรนะ ไม่รู้เรื่อง" ทำไมเป็นเช่นนั้น คุณเข้าใจในภาษานั้นแต่คุณกลับปฏิเสธมัน เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์เช่นนี้ มันเกิดเพราะพื้นที่ไม่เปิด ถ้อยคำที่ไม่ต้องการไม่มีพื้นที่ที่จะงอกงามได้ คุณเลือกที่จะฟังในสิ่งที่ต้องการ แต่ถ้อยคำนั้นไม่มาถึง สิ่งที่มาถึงจึงไม่ถูกเข้าใจ
บางครั้งในบางบริบทที่ต่างกัน คุณเป็นนายเขาเป็นลูกน้อง ลองย้อนไปในประสบการณ์ที่คุณผ่านมา การสนทนาที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ปรารถนาจะเข้าใจกันต่างคนต่างอยู่ในกรอบของตน คุณลองกลับบทบาทดูคุณเป็นลูกน้องเขา(อีกคน)เป็นนาย การสนทนาที่ไม่เท่าเทียมกันในความตระหนักรู้ย่อมดำเนินไปบนความไม่เข้าใจกัน ปัญหาของมนุษย์สนทนานั้นมีอีกมากมายหลายประการ การตีความตามประสบการณ์ตน การฟังอย่างไม่เห็นบริบท การจัดพวกแบ่งแยกกลุ่ม การดูถูกความคิดและถ้อยคำ การต่างความเชื่อ การต่างระดับของถ้อยคำในภาษาเดียวกัน การกลัวสิ่งที่จะตามมาหลังการสนทนา การปกปิดบางประการและอื่นๆ อีก สิ่งเหล่านี้ต้องการปัญญาแห่งความรักและเมตตา ที่จะสานการสนทนาของมนุษย์เข้าด้วยกัน
คุณเคยเข้าประชุมใช่ไหม เป็นการประชุมในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น เพื่อระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือทำสิ่งสร้างสรรค์ เพื่อแจ้งให้ทราบ หรือเพื่ออะไรอีกหลายประการ การประชุมเป็นพื้นที่สนทนากันในหลายแบบ ในพื้นที่สนทนานั้นคุณมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด คุณผ่อนคลายหรือคับเครียด คุณมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรืออะไรผลักดันให้คุณแสดงความคิดเห็นนั้น มันเป็นพื้นที่สนทนาที่คุณต้องการเข้าร่วมหรือจำเป็นต้องเข้าร่วม






ในการดำรงชีวิตประจำวันการสนทนาเป็นพื้นฐานในการที่มนุษย์ใช้ติดต่อกัน แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี หรือสิ่งใดๆ ที่มนุษย์ปลูกฝังกันมา ปลูกฝังไว้ตั้งแต่ปฐมวัย ผ่านมัธยมวัย จนเข้าปัจฉิมวัย ความเข้าไปยึดถือที่ต่างกันทำให้เราแยกตนออกจากกัน ออกจากคนที่ยึดถือต่างกัน ศาสนาที่เริ่มจากศาสดาเดียวผ่านกาลเวลาไปยังไม่คงทนตั้งอยู่ได้แบ่งเป็นนิกายต่างๆ และบ้างก็ผิดเพี้ยนไปเกิดเป็นศาสนาใหม่ขึ้น ความเชื่อที่เหมือนกันทำให้ความคิดเชื่องและการกระทำเชื่อมกัน ในทำนองเดียวกันความเชื่อที่ต่างกันทำให้เราแยกออกจากกัน เชื่อต่างคิดต่างทำต่างกันออกไป ความขัดแย้งดำเนินไปบนความเชื่อที่มาจากใจ
การสนทนากันก็มาจากใจ มีคำกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่ออกจากปากล้วนออกจากใจ" แต่เรายังคงได้ยินคำว่า "ปากไม่ตรงกับใจ" อันนี้ถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะพบว่า คำกล่าวที่ไม่ตรงกับความคิดนั้นถูกปั้นแต่งจากความคิดเช่นกันและเป็นความคิดที่มีใจกำกับอยู่ กำกับให้การสนทนาไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ ทำให้การรับรู้ผิดเพี้ยนไป มีข้ออ้างมากมาย เช่น กลัวเขาจะเสียใจ กลัวจะเกิดอันตราย กลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ เรื่องนี้รู้เพียงบางส่วนก็พอไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด สิ่งภายนอกสร้างเสียงภายในและเสียงภายในเหล่านี้นำพาความคิดไปสู่กับดักแห่งการแบ่งแยกไม่รวมกันได้ บ่อยครั้งที่เมื่อเวลาผ่านไปความกังวลความกลัวถูกพิสูจน์ว่ามันไม่จริงตามความคิดแต่การกระทำทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วทำคืนไม่ได้ ถ้าเราสังเกตุ สังเกตุ สังเกตุ เราจะเรียนรู้เมื่อเราเรียนรู้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้น
เราจะเห็นกลไกการป้องกันของเราตราบที่เรายังไม่เปิดพื้นที่ พื้นที่ที่สิ่งต่างๆ จะเข้ามาโดยไม่มีการต่อต้านป้องกัน พื้นที่ที่ผ่อนคลายผัสสะทั้งหลายดำเนินไปความแตกต่างก้าวเข้ามาให้เราสัมผัสโดยไม่แบ่งแยกรังเกียจเหยียดหยามหรือกลัว เราจะรู้ถึงประโยชน์และโทษของสิ่งต่างๆ เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันไม่กังวลสิ่งที่ผ่านมาหรือยังมาไม่ถึง ผ่อนคลายรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ติดกับดักของกรอบความคิดของเราหรือผู้อื่น เราจะเชื่อมต่อกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาหาเราอย่างถึงพร้อมเมื่อนั้นเราจะเห็นสิ่งใหม่ผุดบังเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะสามารถนำไปทำต่อเราจะรู้วิธีการต่างๆ ที่มาถึงอย่างแปลกปลาดเรายกระดับปัญญาของเราด้วยอาการเช่นนี้
ท่ามกลางความแตกต่างของสรรพสิ่งและผู้คน เราตระหนักว่าฐานของความต้องการของมนุษย์มีทั้งแตกต่างและเหมือนกัน ถ้าเราต้องการให้เหมือนกันต้องเริ่มจากสิ่งที่เหมือน มนุษย์ต้องการ คนรัก เข้าใจ และยอมรับ เราทุกคนต้องการอย่างนั้น
เมื่อเราต้องการสนทนาให้เป็นหนึ่งเดียวไม่ว่าจะสนทนาคนเดียว(คิด) หรือสนทนาสองคนหรือมากกว่านั้น เราควรเริ่มจากการยอมรับกันอย่างเท่าเทียมกัน อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่คู่สนทนานำมาไม่นำความคิดเราไปทาบทอตัดสินดูถูกหรือกลัว ในการสนทนาเราต้องช่วยกันเพื่อจะได้รับฟังสิ่งทั้งหมดที่นำมาเสนอในการสนทนาเราควรเปิดพื้นที่เพื่อให้ถ้อยคำความคิดได้หลั่งไหลพรั่งพรูได้โดยไม่ติดขัด และรวมทั้งเฝ้าดูความคิดที่เกิดขึ้นของเราไม่ให้ไปขัดขวางและจับความคิดที่ผุดบังเกิดในทางสร้างสรรค์ให้ได้ เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งเราต้องให้เวลา กับการสนทนาคู่สนทนากลุ่มสนทนา ความเร็วในการสนทนาต้องช้าลง แม้ว่ามันจะเงียบงันบ้างในบางครั้งเราต้องไม่กลัวความเงียบที่จะเกิดขึ้น มันเป็นการปกติที่เราจะไตร่ตรองไปพร้อมๆ กันทั้งกลุ่ม เพื่อเราจะได้ลงลึกต่อไป แม้ว่าบางครั้งมันจะยุ่งยากสับสน แต่มันจะกลับเข้าที่การสนทนาโดยตัวมันเองจะจัดระเบียบให้เกิดขึ้นได้เมื่อเวลามันผ่านไป เราต้องเข้าใจด้วยว่า เวลา คือส่วนประกอบด้วยความอดทน รอคอยได้ บนพื้นฐานความรักและเมตตา ปัญญาระดับที่เหนือกว่าปัญญาที่สร้างปัญหาจะมาถึงด้วยวิถีทางและกระบวนการเช่นนี้ เพราะ"การสนทนานั้นเป็นวิถีทางอันเป็นธรรมชาติ ที่มนุษย์จะใช้ในการคิดร่วมกัน"(turning to one another : simple conversations to restore hope to the future margaret j. wheatley, 2002 Berrett-Koehler Publishers, INC. San Francisco หันหน้าเข้าหากันแนะนำโดย ปรมาจารย์วิสิษฐ์ วังวิญญู http://www.km.egat.co.th/blog/?q=node/5)
การสนทนาเป็นทักษะไม่ใช่ความรู้ ท่องจำไว้แต่ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องฝึกฝน เมื่อเรากำหนดรู้สังเกตุ ทำให้ช้าลง ดำรงความอยากรู้ เปิดพื้นที่ สลายกรอบ รับรู้ทุกสิ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข สงบเงียบไตร่ตรอง ทำบ่อยๆ พัฒนาการแห่งทักษะจะหมุนวนไปจากระบบสู่อัตโนมัติ บนพื้นฐานของปัญญาแห่งมนุษยชาติ จงเชื่อมั่นในปัญญาแห่งมนุษยชาติ ปัญญาแห่งความรักและเมตตา ผ่อนคลายเป็นอิสระและเรียนรู้ตราบเท่าที่เรายังมีกำลัง...

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตามดูความคิด

เราจึงอยู่ท่ามกลางความเป็นไปอย่างเลื่อนไหลมีพลังในสิ่งที่เคลื่อนไป พลังแห่งสรรพสิ่งได้ดำเนินไปตามวิถีของมัน สอดคล้องกับความเป็นจริงที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่งเป็นวิวัฒนาการ เป็นวัฏฏะที่สร้างสรรค์และพัฒนา




คนเรามักวนเวียนอยู่กับอดีต ปัจจุบันและอนาคต เชื่อมโยงตนเองกับผู้อื่น มีเจตจำนงของตนที่จะบรรลุ 
การตัดสินใจทำสิ่งใดว่ากันว่ามาจากความคิด บางครั้งเป็นความคิดชั่ววูบลงมือทำในทันที บางครั้งไตร่ตรองนานจนไม่ได้ทำ เมื่อเรารู้ตัวของเราในอดีตสัมผัสกับศักยภาพยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในตัวเราซึ่งจะเผยออกมาในอนาคต กระนั้นเรายังคิดถึงตนเองและผู้อื่นสิ่งต่างๆ นี้ฉุดรั้งเราไปจากปัจจุบันที่สมควรทำ 
มีนิทานของตอลสตอย ที่กล่าวถึงพระราชาผู้ค้นหาคำตอบของสามสิ่งคือ 1. เวลาไหนที่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำกิจแต่ละอย่าง 2. ใครคือคนสำคัญที่สุดที่ควรทำงานด้วย 3. อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำตลอดเวลา เรื่องราวผ่านไป พระองค์ได้คำตอบว่า จงจำไว้ว้า เวลาที่สำคัญที่สุดเวลาเดียวคือ "ปัจจุบัน" ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นเวลาที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือคนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่ และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต".... 
ยังมีนิทานของวอลแตร์(นิทานปรัชญา ของ วอลแตร์ แปลโดย ดารณี เมืองมา บริษัท สำนักพิมพ์ดวงกมล(2520) จำกัด พ.ศ. 2540 หน้า 177) พูดถึงปริศนาของราชครู ต่อซาดิก และผู้อ้างเป็นซาดิก ว่า "อะไรเอ่ย ในบรรดาสิ่งทั้งหล่ยในโลกนี้ที่ยาวที่สุด สั้นที่สุด ที่เร็วที่สุด และช้าที่สุด ที่ถูกปล่อยปละละเลยมากที่สุด และน่าเสียดายมากที่สุด ถ้าไม่มีสิ่งนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ มันทำลายทุกสิ่งที่เล็ก และให้ชีวิตกับทุกสิ่งที่ใหญ่โต"... ซาดิกตอบว่าเวลา ..."ไม่มีอะไรจะยาวกว่าเวลาและมันเป็นเครื่องวัดความไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรจะสั้นไปกว่าเวลา เพราะเราจะมีไม่พอสำหรับคนที่รอคอย ไม่มีอะไรที่จะเร็วไปกว่าเวลาสำหรับผู้ที่มีความสุข มันขยายใหญ่ไพศาลจนกระทั่งวัดไม่ได้ มันแบ่งเล็กที่สุดจนวัดไม่ได้เช่นกัน มนุษย์ทุกคนปล่อยปละละเลยมัน และต่างก็เสียใจกันทุกคนที่เสียมันไป เราทำอะไรไม่ได้เลยถ้าขาดมัน มันทำให้คนรุ่นหลังลืมสิ่งที่ไม่ดี และทำให้สิ่งยิ่งใหญ่เป็นอมตะ"...
คุณเห็นความคิด วิธีคิด ผลของการคิดจากนิทานทั้งสองเรื่องใหม ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องแต่ง แต่งจากอะไร ความคิด ความเป็นจริง การกระทำ หรือ อะไร 
คุณเคยตั้งคำถามต่อสิ่งที่เข้ามาในชีวิต แล้วสังเกตุมันไหม 
บางคนเชื่อมั่นในโชคชะตา ว่ากันว่าแบบฝึกหัดทั้งหลายของชีวิตเราจะผ่านไปได้ ด้วยธรรมชาติรู้ความสามารถและความเป็นไปของเราจึงให้บทเรียนเหล่านั้นแก่เรา เมื่อวันเวลาผ่านไปความทุกข์ความสุขจะหล่อหลอมตัวเราจิตวิญญาณเราให้เข็มแข็งเติบใหญ่ 
คุณเห็นไหมความคิดนั้นก่อตัวขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา 
คุณเคยอ่านชีวิตคนไหม อ่านจากชีวิตจริง จากคำบอกเรา จากเรื่องราวชีวประวัติ มีประวัติคนมากมายที่ถูกจากรีกไว้ เมื่อคุณอ่านไม่ว่าจากแหล่งใดโปรดสังเกตุ สังเกตุ สังเกตุ เรื่องราว การตัดสินใจ การกระทำ เมื่อสังเกตุแล้วคุณจะพบ ความเชื่อ ความคิด และโชคชะตาในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น 
ลองอ่านหนังสือเมื่อถึงตอนเหตุการณ์ที่จะต้องตัดสินใจโปรดลองสมมุติตัวเองเป็นตัวละครนั้นแล้วลองตัดสินใจดู อ่านต่อแล้วลองเทียบผลที่เกิดขึ้น สำรวจดูว่าหากเป็นคุณจะได้ผลเหมือนกันหรือไม่ ลองล้อเล่นกับความคิดโดยไม่ต้องเสี่ยงอันตรายดู
สังเกตุความคิดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากสมอง หัวใจ หรือร่างกาย สิ่งที่เราคิดมีอคติสี่ประการประกอบกับความคิดนั้นหรือไม่ เราตัดสินคน ดูหมิ่นดูแคลนความเป็นมนุษย์หรือความคิดเรามาจากความกลัวหรือไม่ ตามดูความคิดของเรา เราคิดจากข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือบางส่วน เราเห็นข้อเท็จจริงทั้งหมดไหม เราใช้ความรู้สึกทั้งหมดที่เรามีหรือความรู้สึกนั้นเป็นเพียงสัมผัสที่มาจากอารมณ์สะเทือนใจจากเหตุการณ์นั้นเชื่อมต่อกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา หรือเราสัมผัสมันด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ข้อเท็จจริงนั้น เราเห็นข้อดีข้อเสียด้านบวกด้านลบของสิ่งที่สัมผัสได้ครบถ้วนหรือเราละเลยด้านใดด้านหนึ่งไปหรือเปล่า มันมีอันตรายใดที่เราต้องคำนึงไหมเราได้นำมันมาไตร่ตรองหรือไม่ เราสร้างสรรค์สิ่งใดได้จากเหตุการณ์ข้อเท็จจริงความรู้สึกทั้งแง่บวกและแง่ลบรวมทั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเราเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้วเราจะตัดสินใจทำสิ่งที่คิดให้เป็นจริงได้ด้วยวิธีใด 
ลองตามดูความคิดของเรา เราต้องสังเกตุ สังเกตุ สังเกตุ ไตร่ตรอง ไม่วิตกกังวล ปล่อยให้ อดีต อนาคตอยู่ในที่ทางของมัน ปล่อยให้ตัวตน และสังคมแวดล้อมอยู่ในที่ทางของเขา และเราจะเชื่อมต่อกับทุกสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีเงื่อนไข การดำรงอยู่ในปัจจุบันของเราจะทำให้เราพัฒนาเห็นทางออกใหม่บนระดับที่ไม่ใช่ระดับที่สร้างปัญหานั้นแต่เป็นระดับที่เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งและอยู่นอกเหนือจากระดับเดิม เราตกผลึกทางความคิด สิ่งใหม่เกิดขึ้น เราเห็นทางปฏิบัติที่สามารถนำไปกระทำ รู้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร และผลของมันเป็นอย่างไร เราเฝ้าดูความคิด ติดตามการกระทำ ดำเนินไปตามสิ่งที่ควรเป็นเมื่อมันดำเนินไปเกิดข้อมูลใหม่เราก็เชื่อมต่อและสามารถมีวิธีปฏิบัติได้อย่างกลมกลืนต่อไป ดังนั้นเราจึงอยู่ท่ามกลางความเป็นไปอย่างเลื่อนไหลมีพลังในสิ่งที่เคลื่อนไป พลังแห่งสรรพสิ่งได้ดำเนินไปตามวิถีของมัน สอดคล้องกับความเป็นจริงที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่งเป็นวิวัฒนาการ เป็นวัฏฏะที่สร้างสรรค์และพัฒนา
ตามดูความคิดทั้งมวล ทำให้เรารวมกับผู้คนได้อย่างสอดคล้องและมีพลัง บนพื้นฐานของความเมตตา มักน้อย และถ่อมตน สรรพสิ่งจึงยังประโยชน์และเกื้อกูลกันและกัน

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความแตกต่างและความสัมพันธ์

คุณเชื่อในความแตกต่างที่สัมพันธ์กันอย่างลงตัวหรือไม่ 
เรามักเห็นความแตกต่างและขยายความแตกต่างนั้นด้วยกรอบของความคิดของเรา หากเราเชื่อมั่นในความเป็นไปของแต่ละบุคคล เชื่อมั่นว่าเขามีเป้าประสงค์ในการเกิดมาที่ต่างกัน มีวิถีทางในการดำรงอยู่ที่แตกต่างกัน ด้วยความเมตตาที่ดำรงอยู่ในตัวของเราท่ามกลางกาลเวลาที่ประกอบด้วยความอดทนรอคอยได้ และเรามุ่งที่จะสัมพันธ์กับเขาเหล่านั้น ปัญญาของความเมตตาจะนำเราสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่มีเงื่อนไขได้ 
ความแตกต่างของคนเราถูกสังเกตุมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว บางความเชื่อแบ่งคนเราตามวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด วันมีเจ็ด เดือนมีสิบสอง ปีมีสิบสอง ถ้าเราเอาทั้งหมดคูณกัน เราจะเห็นความแตกต่างของคนอีกหนึ่งพันแปดร้อยประการ ซึ่งคงจะยากที่จะจดจำได้หมด บางความเชื่อแบ่งคนเป็นเก้าลักษณะ และมีลักษณะรองอีกสองประการตามแต่สิ่งแวดล้อมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป (นพลักษณ์) บางความเชื่อแบ่งคนเป็นหกประการ (จริตหก) อินเดียนแดงแบ่งคนเป็นสี่ประเภทโดยเปรียบเทียบกับสัตว์สี่ชนิด  กระทิง อินทรี หนู หมี ซึ่งอยู่ตามทิศต่างกัน เหนือ ออก ใต้ ตก หรือ หยินหยางคือการแบ่งกันเป็นสองจำพวกใหญ่ การแบ่งต่างๆ กันตามความเชื่อหลายแบบนี้ มีขึ้นเพื่อให้เราเข้าใจความแตกต่างเพื่อจัดวางความสัมพันธ์ที่ดีบนความแตกต่างนั้น เช่น หยินหยาง นั้นหากเราสังเกตุดูจะเห็นว่ามีจุดดำในพื้นขาวและจุดขาวในพื้นดำ นั่นคือความพยายามบอกไว้ว่า ในอ่อนมีแข็ง ในแข็งมีอ่อน ในดำมีขาว ในขาวมีดำ ความแตกต่างมีความสัมพันธ์กันและกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก http://jiradino.blogspot.com/2011/07/blog-post_5677.html
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน คือความสัมพันธ์ระหว่างคนที่แตกต่างกัน ด้วยเข้าใจว่าเราเป็นอย่างไร และเขาเป็นอย่างไร ความเข้าใจเริ่มจากการเข้าใจตัวเราเองก่อน ว่าเราเป็นใคร คนอื่นมองเราอย่างไร ความเข้าใจตัวเราเกิดจากการสังเกตุตนเอง มีความสัมพันธ์กับตนเองตามความเป็นเราที่แท้จริงไม่ใช่เราที่มุ่งหวังให้คนอื่นเข้าใจ แล้วบนกรอบที่แตกต่างกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน เราสัมพันธ์กับตัวเราได้อย่างเป็นมิตรกับตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับตัวเอง เราสานสัมพันธ์กับตัวเราได้ในภาวะต่างๆ ในอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะกดดัน ภาวะผ่อนคลาย และภาวะธรรมดา เราจัดวางความสัมพันธ์ของเราได้อย่างเหมาะสมกับอารมณ์ตนเอง
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.visalo.org/book/penmitr.htm
จากกรอบของเราที่ทำได้ตามสภาวะของความเป็นจริง เราจึงขยายกรอบของเราออกเพื่อเข้าใจผู้อื่น เข้าใจได้โดยเปิดพื้นที่ให้ความเป็นคนอื่นได้โลดแล่นในกรอบของเรา เมื่อกรอบเปิดกว้างจนไม่มีอณาเขตเราจะได้เรียนรู้และไร้กรอบไร้รูปแบบ ความสัมพันธ์บนพื้นที่ที่เปิดกว้างโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยสติรู้ตัวทั่วพร้อม การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการเปิดพื้นที่ให้ผัสสะได้ทำงาน อายตนะทั้งหลายในและนอกได้เจริญขึ้นด้วยการเรียนรู้จากผัสสะที่ได้รับ สัญญาอารมณ์ต่างๆ เผยตัวของมันออกคลี่คลุมพื้นที่เรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในทางที่ดีตามมา การจัดวางความสัมพันธ์ที่เหมาะสมได้เกิดขึ้นจากปัญญาแห่งการเปิดเผยตัวตน บนสติรู้ตัวทั่วพร้อม ปัญญาแห่งธรรมชาติย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เกื้อกูล เป็นประโยชน์ เราเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ในความแตกต่างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน
เมื่อสัมพันธ์ของความแตกต่างดำเนินไปในครรลองของมัน สังฆะ ความเป็นหนึ่งเดียวของความแตกต่างหมุนวน การสนทนาเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เกลียวการเรียนรู้สั่นสะเทือนความคิดร่วม เหนี่ยวนำปัญญาร่วมเกิดขึ้น พลังแห่งความเป็นหนึ่งเดียวเลื่อนไหล ความเป็นไปในทุกคนที่เข้าใจในสิ่งเดียวกัน เห็นภาพใหญ่ภาพรวมทั้งหมดที่ปัญญาร่วมสร้างขึ้น ต่างคนต่างเข้าใจความแตกต่างและลงมือปฏิบัติตามหน้าที่ที่แตกต่างกัน บนความสามารถที่แตกต่างกัน ความแตกต่างทั้งหมดจึงเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นทางเดียวที่ดำเนินไปด้วยความสอดคล้อง เกื้อกูล และมีพลัง 

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คุณคิดอะไรอยู่เมื่อสิ่งใหม่เข้ามา



เมื่อเราได้รับรู้สิ่งใหม่ เหตุการณ์ใหม่ หรืออะไรที่แปลกไปจากสิ่งเดิม สิ่งคุ้นชิน เราจะมีการสนองตอบได้หลายประการ ต่อต้าน ยอมรับ และเฉยๆ
อะไรอยู่เบื้องหลังและผลักดันการสนองตอบนั้น ท่านเคยสังเกตุหรือไม่ เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม
เมื่อเด็กได้กำเนิดมาในโลก ได้รับการเลี้ยงดูจากบุพการี (ผู้ให้ก่อน) ตั้งแต่ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ การรับรู้ในตอนนั้นจึงยังไม่มีถ้อยคำเข้ามาในใจของเขาเหล่านั้น แต่การสัมผัสทางกายและทางใจเด็กรับรู้ได้ตั้งแต่ยังไม่ถือกำเนิด (รู้ตั้งแต่ปฏิสนธิ..) การรับเข้าจากการเลี้ยงดูนั้นสร้างความทรงจำ ความหมายขึ้นมาทีละน้อย บนความไม่มีอะไร เมื่อเวลาผ่านไป ถ้อยคำที่บุพการีเฝ้ากล่อมเกลา ตั้งแต่ลืมตาดูโลกเวลาจะทำสิ่งใด ก็จะพูดคุย พร่ำบอก เด็กทั้งหลายตอบสนองด้วยกายและใจก่อนเอ่ยวาจาได้ จากการฟังของเด็กเหล่านั้นเขาเริ่มพูดได้ ตอบสนองได้ทางวาจา เราใส่สิ่งใดเข้าไป เด็กก็จะสนองสิ่งนั้นกลับมา เมื่อจำความได้ความเหล่านั้นที่ได้รับมาก็หล่อหลอมมาเป็นฐานของตัวตนของเด็กนั้น
เราทุกคนก็ผ่านช่วงเวลานั้นมา บางคนนานมาก บางคนไม่นาน บางคนจำได้ บางคนจำไม่ได้ บางคนไม่อยากจำ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราจะเผชิญกับสิ่งใหม่เข้ามาในชีวิตเสมอ บางท่านบอกว่า การได้พบกับเหตุการณ์ใหม่เป็นกำไรชีวิต แต่บางท่านบอกว่าไม่ได้พบสิ่งใหม่เลย มีแต่ปัญหาเดิมซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา บางคนว่าการที่เราเจอะเจอแต่ปัญหาเดิมนั้นเพราะชีวิตเป็นเหมือนแบบฝึกหัด ถ้าเราไม่สามารถผ่านแบบฝึกหัดที่หนึ่งไปได้ ก็จะต้องทำแบบฝึกหันนั้นซ้ำจนกว่าจะผ่านแล้วจึงจะได้เริ่มแบบฝึกหัดที่สองต่อไป ความแตกต่างกันที่เราพบทำให้คนเราไม่เหมือนกัน ยิ่งเวลาผ่านไปเรายิ่งได้รับและสร้างกรอบการรับรู้ต่างกันตามที่เราประสพ ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันยังมีชะตากรรมไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างกันมาจากตัวเราเอง การรับรู้การสนองตอบ สร้างความคิด การยึดถือ และการปฏิบัติของเราขึ้นมา เราจึงเป็นเราเป็นสิ่งเดียวในจักรวาลที่ดำรงอยู่อย่างไม่มีใครเหมือนเรา ความเป็นสิ่งเดียวทำให้เราสำคัญผิด ว่าเราเป็นเอกในจักรวาลนี้ (เอก=หนึ่ง)
เวลาก็ผ่านไปอีกเวลาที่หล่อหลอมตัวเราผ่านไป ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะเรียนรู้ในการถอดถอนตัวเอง โลกมนุษย์ที่ซับซ้อนนี้ ในความซับซ้อนนั้นมีการเบียดเบียนดำรงอยู่ ทำให้มนุษย์แปลกแยกจากกัน ในการเบียดเบียนมีการเกื้อกูลดำรงอยู่เช่นกัน ทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมเข้าหากันได้อีก มีกิจกรรมมากมายที่ไม่จำเป็นในอดีตแต่จำเป็นในปัจจุบัน เช่น การฝึกการต่อสู้ ฝึกการทำกับข้าว เป็นต้น
มนุษย์สร้างสรรพสิ่งแล้วก็ติดยึดกับมัน เราสร้างบ้าน สร้างครอบครัว แล้วก็ยึดถือไว้ใครมาทำร้ายเราต้องปกป้อง ครอบครัวคือเราจะไม่ทิ้งกัน และอื่นๆสารพัดที่เราทุ่มเททำแม้ชีวิตก็สละให้ได้ เราสร้างชาติสร้างประเทศแล้วยึดไว้อีก ใครมารุกรานเราต้องป้องกัน  เราสร้าง โลก Internet โลกเสมือน Online แล้วเราใช้มัน ติดอยู่กับมัน เราต้องเรียนรู้ที่จะสัมผัสกับมันแต่ไม่ติดยึด อันที่จริงแล้วโลกนี้ก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้มีหรือไม่มีเราก็จะดำเนินไปตามครรลองของมัน เราต่างหากที่มีโลกในเรา และยึดมันไว้ทั้งที่มันไม่เป็นไปตามเรา
บนชั้นหนังสือขายดีเราพบว่า มีหนังสือหลายประเภทที่ติดอันดับขายดี พิมพ์ขายได้เรื่อยๆ คือ สอนให้สร้างรายได้ สอนให้ทำกิน หนังสือสอนให้ทำใจ นั่นคือมนุษยคิดว่าต้องมั่งคั่ง อิ่มกาย อิ่มใจ จึงจะเป็นความสำเร็จ
ปัจจุบัน นอกจากหนังสือแล้วมนุษย์ยังคงแสวงหาต่อไป กิจกรรมต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองมนุษย์มีมากมาย พักผ่อนด้วยการท่องเที่ยว แสวงหากำลังใจให้กับตนเอง เข่น กิจกรรมปลุกยักษ์ในตัวคุณ เป็นมิตรกับตัวเอง ทำร่างกายและจิตให้แข็งแรง สปาบำบัดพิษทางกายและใจ และอื่นๆ อีกมากมาย ในการขายประกันมีบางรายโฆษณาแถมกิจกรรมเหล่านี้มากมายจนจำไม่ได้
มนุษย์ลืมแสวงหาภายใน ท่องเที่ยวไปภายใน เราสร้างและแสวงหาภายนอก จนลืมภายในกายที่กว้างคืบ ยาววา หนาศอกนี้ ...
สิ่งใหม่ที่เราพบเข้ามาในชีวิตเราเลือกที่จะรับรู้และตอบสนองได้ รับรู้เพือถักทอเข้ากับชีวิตเราเมื่อตระหนักว่าเป็นประโยชน์ รับรู้เพื่อจะป้องกันเพราะมันเป็นโทษ รับรู้และจัดวางไว้ในสิ่งที่รับรู้เพราะไม่เป็นทั้งประโยชน์และโทษ และบางอย่างรับรู้เพราะมันเป็นภาคบังคับของชีวิตที่ต้องรับรู้
การรับรู้เราต้องเปิด สิ่งรับของเราทั้งหมด สิ่งรับของเราได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ให้พื่นที่ในการเรียนรู้ด้วยการปล่อยให้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาแล้วสังเกตุ การรับรู้ การตอบสนองของเรา เมื่อจิดใจเราผ่อนคลายเราจะเปิดการรับรู้ได้ทุกส่วน แต่ถ้าจิตใจเราคับเครียดกดดัน ส่วนรับรู้ทั้งหมดจะปิดเราจะกลับมาอยู่กับสมมุติฐานเดิม กรอบความคิดความเชื่อเดิม ด้วยความคุ้นชิน เราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนรับรู้ปิดลง การเรียนรู้รับรู้ไม่เกิดขึ้น
สิ่งใหม่ที่มาหากต้องการศึกษาเราต้องเปิดพื้นที่ให้สิ่งนั้นได้เข้ามาในพื้นที่รับรู้เพื่อเรียนรู้มันบนจิตใจที่ผ่อนคลาย บางทีสิ่งใหม่ที่รับรู้จะกระตุ้นสิ่งใหม่ในเราให้เราพบเจอตัวตนที่แท้เอง

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Windows 8 App

ทดสอบ Windows 8 ต่อ โดยพยายาม เพิ่ม User (เป็นของ "คนสำคัญ" ที่บ้านน่ะครับ) ดูแล้ว Windows 8 ที่ใช้ที่บ้านนั้น ต้อง Online ตลอดเวลา และ เชื่อมต่อกับโลก Online เสมอ ถ้าเราใช้ที่บ้าน บนมือถือ ที่ที่ทำงาน ทุกอย่างอยู่ Online บนโลกเสมือนตลอดเวลา

ติด Microsoft Office 2013 และอื่นๆ มีดูหนังฟังเพลง หนังสือพิมพ์ หนังสือจาก AIS Game จาก Xbox




ในความคิดผมเขาพยายามเชื่อมโลกทั้งหมดให้ไปอยู่ในโลกเสมือนให้ได้
และเราต้องดูความจำเป็นของเราด้วยเมื่อเราจะใช้และเข้าไปในโลกที่ไม่จริงนั้น เราต้องใช้เงินจริงๆ เพราะการเชือมต่อของเรากับ Online นั้นมันต้องใช้เงิน และต่อไปนี้เราจะสะดวกสะบายขึ้นเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ที่มีสัญญานเครือข่าย เครือข่ายที่เราทราบดีว่าบ้านเราใช้และเข้าถึงได้ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งยังล้าหลังเพื่อนบ้าน
ก็ไม่เป็นไรทดสอบก่อน แล้วสักพักถอยกลับไปอยู่ในถ้ำเหมือนเดิมคือใช้ Windows 7 
คงไม่ทำให้เราตกยุคสักเท่าไรนะครับ