วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ระหว่างการเดินทาง

เมื่อเราเดินทางการพบเห็นสิ่งต่างๆ สร้างการเรียนรู้ได้ มีคำกล่าวว่า
"ผู้ได้อ่านหนังสือหมื่นเล่ม เดินทางหมื่นลี้ย่อมเป็นนักปราชญ์"(ขงจื้อ)
 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ผมมีกำหนดเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี กลับบ้านที่จังหวัดลำปาง หลังจากเป็นวิทยากรในหลักสูตร BAR & AAR Workshop. ที่เขื่อนสิรินธร ออกเดินทางจากเขื่อนสิรินธรโดยรถยนต์ กฟผ. เวลา 06.50 น. น้องพามาส่งที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานีเวลา 07.30 น. Check-in เสร็จเรียบร้อยลาจากกัน น้องๆ เดินทางต่อไปยังจังหวัดขอนแก่น บอกน้องไม่ต้องห่วงเวลาขึ้นเครื่องบินประมาณ 08.30 น. เครื่องบินจะออกเวลา 09.00 น. และไปถึงจังหวัดเชียงใหม่เวลา 10.10 น. เมื่อถึงเวลา 08.50 น. มีประกาศจาก แอร์เอเชียว่าเครื่องบินล่าช้ากำหนดเวลาออกไหม่เป็นเวลา 10.50 น. ขณะนั้นคิดเพียงว่าไม่เป็นไรคงไปถึงบ้านลำปางไม่เกิน 14.00 น. เอากระเป๋า Load แล้วไม่เป็นไรมีเป้ใบเดียวกับคอมพิวเตอร์ก็เดินเตร่ในสนามบินไปและหาอาหารเช้าง่ายๆ รับประทานไปก่อน เลือกทานข้าวต่้มหมูจากร้านริมสุดด้านซ้ายมือ เหมือนข้าวสวยใส่น้ำต้มหมูพอแก้ขัดไปได้ นั่งรอพลางเล่นโทรศัพท์เชื่อมต่อ Wifi ของ กระทรวง ICT สมัครโดยใช้เลขที่บัตรประชาชน เชื่อมต่อได้เร็วพอสมควรอ่าน Email และเล่น Facebook ได้ เบื่อก็เดินไปรอบๆ ห้องพักรอมีคนร่วมชะตากรรมหลายร้อยคน บางคนเข้าไปรอด้านในห้องผู้โดยสารขาออก แล้วกลับออกมาใหม่
เวลา 10.30 น. มีประกาศว่าเนื่องจากต้องรอเครื่องบินขาเข้าเที่ยวบินจำเป็นต้องล่าช้ากำหนดการบินใหม่ยังไม่ระบุ ขอให้ผู้โดยสารมารับคูปองอาหาร มูลค่า 80 บาทได้ที่ Counter Check-in ผู้โดยสารเริ่มกระวนกระวาย มีผู้โดยสารท่านหนึ่งถึงกับอุทานว่าอะไรกันผมมีประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างนี้เสียหายหมดอุตส่าห์เหมารถมาจากจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่เช้าเพื่อเดินทาง และต่อด้วยระบุว่าเที่ยวบินของแอร์เอเชียเป็น FD ย่อมาจาก Flight Delay ท่านบอกว่าเพื่อนที่ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้บอก มีผู้โดยสารอีกกลุ่มน่าจะเป็นดาราหรือนักร้องที่มีงาน Event ในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 4 ท่าน รู้สึกมีอารมณ์ไม่พอใจมากพูดกันว่าน่าจะคืนตั๋วแล้วกลับไปเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีต่อดีกว่า ผมไปขอรับคูปองอาหารจากพนักงานภาคพื้นดินที่ Counter Check-in พนักงานระบุว่าใช้ได้ทุกร้านยกเว้นที่ร้านแบล็คแคนยอน ผมเดินไปดูรอบๆ มีหลายท่านได้นำไปแลกอาหารประเภทต่างๆ ผมสังเกตุดูมีร้านอาหารอยู่ประมาณสี่ร้านไม่รวมร้านแบล็คแคนยอน อาหารที่มีเกือบทุกร้านคือซาลาเปาและขนมจีบ นอกจากนั้นมีอาหารตามสั่งบ้าง ขนมเค็กบ้าง มีอยู่ร้านหนึ่งที่นำอาหารแช่แข็งปรุงสำเร็จของ CP เช่น สปาเก็ตตี้ เป็นต้น ซึ่งนำมาอุ่นแล้วจะขายราคาประมาณ 100 - 120 บาท ผม่ทานกาแฟสดร้อน 1 แก้ว ขนมจีบชุดเล็ก 4 ชิ้น และน้ำเปล่า 1 ขวด เป็นราคา 80 บาทพอดี คูปองนี้ร้านค้าไม่ทอนเงินสดให้เราต้องใช้ให้หมด บางคนบ่นว่าค่าเสียเวลาเราได้เพียงเท่านี้หรือ มีค่าเพียง 80 บาทเท่านั้นเอง
ผมสอบถามพนักงานแอร์เอเชียว่าเราจะได้ค่าเสียเวลาหรือไม่ เธอตอบว่า หากเราซื้อประกันมาจะได้รับค่าเสียหาย ผมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องประกันเท่าไรนักสอบถามน้องเพิ่มเติมว่าแล้วบัตรโดยสารของผมรวมค่าประกันด้วยหรือไม่ เธอตรวจสอบให้แล้วแจ้งว่าไม่มีค่ะ
เวลา11.30 น. มีประกาศว่ากำหนดเวลาออกใหม่เป็นเวลา 13.55 น. สอบถามพนักงานเธอบอกว่าเครื่องจากเชียงใหม่้ไม่มีต้องนำเครื่องจากกรุงเทพไปรับที่เชียงใหม่และจะมาถึงอุบลฯ ประมาณ 13.30 น. กำหนดเวลานี้แน่นอนแล้ว ผมแจ้งกับเธอว่าผมต้องการเบิกเงินที่ตู้ ATM ซึ่งภายในสนามบินมีเพียงตู้เดียวและเสีย เธอเอื้อเฟื้อพาไปส่งที่หน้า รพ.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งไม่ไกลจากสนามบินเท่าไรนัก ระหว่างรอเธอรับกลับอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลนั้นได้เห็นรถเข็นขายลูกชิ้นทอดหลายเจ้าจอดเรียงกันสังเกตุดูมีลูกชิ้นทอดแล้วมีผักสดไว้ให้ด้วยเมื่อลูกค้ามาซื้อลูกชิ้นจะเลือกหยิบผักสดไปด้วย เป็นการดีต่อสุขภาพเมื่อพนักงานแอร์เอเชียมารับได้สอบถามเธอ เธอเล่าว่ามีทุกเจ้าในจังหวัดอุบลและย้อนถามว่าที่อื่นไม่มีหรือ บอกเธอว่าที่จังหวัดลำปางไม่มี
กลับมาถึงสนามบินเวลา 12.30 น. หิวไปทานอาหารร้านเดิมเมื่อเช้า แต่เปลี่ยนเป็นข้าวราดผัดกระเพราหมูยอไข่ดาวและน้ำเปล่า 1 ขวด ราคา 80 บาทพอดี ทานเสร็จเข้าห้องน้ำแล้วเข้าไปรอในห้องผู้โดยสารขาออก ผ่านเครื่องตรวจต้องเอาคอมพิวเตอร์ออกจากกระเป๋าเหมือนที่สุวรรณภูมิ แต่ผ่านเครื่องทั้งที่มีสร้อยพระที่ผ่านเครื่องที่ไหนก็จะดังแต่ผ่านเครื่องที่สนามบินอุบลฯ ไม่ดัง ระหว่างรอเครื่องเหลือบไปเห็นร้านแบล็คแคนยอนที่ลูกค้า AIS จะได้เครื่องดื่มฟรี 1 แก้ว เลยใช้บริการฟรีซะ
เวลา 13.50 น. เรียกขึ้นเครื่องเห็นผู้ร่วมชะตากรรมต่างไปด้วยกันรวมทั้งกลุ่มดาราหรือนักร้องด้วย เครื่องถึงเชียงใหม่เวลา 15.30 น. ระหว่างรอกระเป๋าได้ติดต่อ TAXI Meter ในห้องผู้โดยสารขาเข้าเพื่อไปยังสถานีขนส่งอาเขตุ ราคา 170 บาท รับกระเป๋าแล้วออกมารอเป็นคิวที่ 13 รอประมาณ 15 นาทีมีรถมารับเดินทางไปถึง เวลา 16.00 น. TAXI ส่งที่อาเขตุ 3 เป็นสถานีรถปรับอากาศชั้น 1 สอบถามไม่มีรถที่แน่นอนต้องรอที่ว่างจึงจะขายตั๋วให้ เลยลากกระเป๋าข้ามมายัง อาเขตุ 2 ห่างกันประมาณ 100 เมตร ซื้อตั๋วรถตู้เชียงใหม่ลำปาง ราคา 71 บาท รถมีออกทุกหนึ่งชั่วโมง เที่ยวแรก 06.30 น. เที่ยวสุดท้าย 18.30 น. ผม่ได้รถเที่ยว 17.30 น. ต้องรอประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่รู้จะไปไหนเพราะมีกระเป๋าเป็นตัวถ่วงนั่งรอเวลาประมาณ 17.20 น. รถมาถึง รถตู้นี้นั่งได้ 17 คน ข้างคนขับ 2 คน ข้างหลัง 5 แถวๆ ละ 3 คน ต้องเลือก(แย่่งกัน)ที่นั่งเอาเองขึ้นเป็นคนที่ 12 ได้ที่นั่งแกวที่ 2 คนขับรถตู้เป็นผู้หญิง กระเป๋าเดินทางวางตรงประตูทางขึ้นมีคนอื่นอีกคนเอากระเป๋าเดินทางมาเหมือนกันนึกว่าต้องเอาไว้ข้างบนแต่คนขับอาตั้งไว้ทั้งสองใบซ้อนกันตรงประตูทางขึ้น รถออกก่อนเวลาเล็กน้อย เย็นวันศุกร์รถแน่นถนนมาก จากเชียงใหม่มาลำพูนรถเยอะมาก เลยจากลำพูนรถน้อยลงมาถึงสถานีขนส่งลำปางเวลา 19.00 น. เหมาะรถสองแกวมายังบ้านพักตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปางห่างจากสถานีขนส่งลำปาง 18 ก.ม. ถึงบ้านเวลา 20.00 น.การเดินทางที่ยาวนานจบลงครั้งนี้ที่บ้าน ตลอดระยะทางเมื่อออกจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งผมจะรายงานให้ผู้ที่รอคอยได้ทราบว่าถึงไหนแล้วเพื่อให้ทั้งเขาและเราสบายใจคลายความกังวลใจ
มาถึงเชียงใหม่ช้ากว่าที่กำหนดเดิม 5 ชั่วโมงกว่า (จาก 10.10 น. มาถึง 15.30 น.) ตลอดเวลาของการเดินทางที่ยาวนานนี้ได้เรียนรู้ที่จะรอคอย รอเวลา รอกำหนดที่จะมาถึง พลางคำนึงว่าเรามีทางเลือกไหมทางเลือกที่จะทำให้ระยะทางและเวลาลัดสั้นถึงที่หมายตามปรารถนา ทางเลือกอาจมีมากกว่าหนึ่งทางแต่ทางที่ทำแล้วมีเพียงทางเดียวทางที่ทำแล้ว การตัดสินใจเหมาะสมในแต่ละครั้งแล้วและสิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้
เป็นวันเวลาอันยาวนานสำหรับการเดินทางกลับ บอกกับผู้คนทั้งหลายว่า เวลาประกอบด้วยสิ่งสำคัญสองประการคืออดทนและรอคอยได้ บนพื้นฐานประการสำคัญคือเมตตา สิ่งนี้คือพื้นฐานการคิดของผมด้วยเช่นกัน อดทนและรอคอย ด้วยความเมตตา 
ชีวิตเป็นของที่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก ถ้าเราพึ่งสิ่งภายนอกน้อยเพียงใดเราจะกำหนดสิ่งต่างๆ ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ถ้าเราพึ่งพาสิ่งภายนอกมากเราก็จะกำหนดสิ่งต่างๆ ห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นด้วย

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

BAR & AAR แบบ 4 ทิศ และคิด 6 แบบ

หลังจากที่ออกแบบหลักสูตร BAR & AAR Workshop และได้นำเสนอไปทั้งหมด 3 รุ่น ในบริบทที่แตกต่างกันกับคนที่แตกต่างกัน ทำให้พบว่าผลของการนำเสนอนั้นแตกต่างกัน
ผมออกจากบ้านลำปางในวันอาทิตย์ 18 เพื่อไปขึ้นเครื่องที่เชียงใหม่ ในวันที่ 19 ไปถึงอุบลแล้วเดินทางต่อไปยังเขื่อนสิรินธร อบรมวันที่ 20-21 และต้องพักอีก 1 วันเพราะไม่มีเครื่องบินกลับ ทั้งนี้มีวิทยากรในพื้นที่ร่วมด้วย 2 ท่าน มีรถบริการตลอดเวลา

รุ่นแรกมีรายชื่อผู้เข้าอบรม 45 คน เป็นคนที่มีระดับแตกต่างกันตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานจนกระทั่งถึงผู้บริหารระดับกลางมีเวลาอบรม 2 วัน เป็นการอบรมในสถานที่ทำงาน เมื่อถึงเวลาอบรมผู้บริหารเปิดอบรมถ่ายรูปร่วมกันอย่างคับคั่ง หลังจากนั้นมีผู้เข้าอบรมในการอบรมเมื่อ check-in 26 คน ในสถานปฏิบัติงานนั้นมีงานมากที่ผู้มีชื่อเข้าอบรมต้องดำเนินการ การตรวจประเมิน การจัดทำแผนยุททศาสตร์ การเตรียมงานใหญ่ที่จะมาถึงในอีกสองสามวันข้างหน้า ผู้คนหายไปเรื่อย จนเมื่อจบการอบรมมีผู้อยู่ร่วมเมื่อจบ 11 คน



ภายหลังพิธีเปิด วิทยากรของกิจกรรมนำ Check-in ด้วยรูปหัวใจ และมีกิจกรรมละลายน้ำแข็งบ้าง น้องนุ และน้องอ๋อย จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จัดการให้ผู้เข้าร่วมได้พร้อมที่จะรับความรู้ การนำเสนอเริ่มด้วยการกล่าวถึงจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ โลกที่ยืนยาว เพื่อปรับทัศนะให้เห็นความเล็กและสั้นของชีวิต เพื่อเราจะได้มีเมตตา มักน้อย และถ่อมตน ตามด้วยความแตกต่างกันด้วยผู้นำสี่ทิศที่ใช้คำถามเพื่อให้แต่ละคนดูว่าตนเป็นแบบใดและให้สนทนากันในกลุ่มพวกเดียวกัน ช่วงนี้ไม่มีพลังเท่าใดสื่อความแตกต่างไม่ค่อยออก
มีน้อยก็สู้ทุกคนครับ

ตามด้วยคิด 6 แบบโดยใช้เพียงรูปหมวก 6 สี และบอกว่าแต่ละสีเกี่ยวกับอะไรโดยไม่มีรายละเอียด ในการพูดกันและคิดกันนั้น ไม่ได้แบ่งกลุ่มเนื่องจากมีคนจำนวนน้อยและมีภาระกิจเข้าๆ ออกๆ ตลอดการอบรม จึงรวมกันเป็นกลุ่มเดียวและหัวข้อที่พูดคุยกันคือเรื่องการจัดงานครบรอบที่จะมาถึงซึ่งทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง การพูดคุยเรื่องที่มีข้อสรุปแล้วจึงไม่เกิดพลังในด้านความคิดเพราะทุกคนรู้ว่าจะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เมื่อจบการพูดคุยจึงแนะนำให้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการทำงานในปีต่อไป แต่เสียดายที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วม ในการสนทนากันผมเน้นเรื่องการหันหน้าเข้าหากัน และในการทำกิจกรรมเน้นเรื่อง 2 เปิด 4 ไม่ ผมมีอาจารย์อิ่งจาก ฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ สายงานผลิตไฟฟ้า มาช่วยให้สติ และช่วยบรรยายเวลาที่ผมอับจนความคิด รวมทั้งสะท้อนให้เพื่อการปรับปรุง อาจารย์อิ่งนำวงจรเรียนรู้มาให้คุยกัน
ยามเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ริมอ่างรอใส่บาตรพระ

 จบวันแรกต่อวันที่สองด้วยกิจกรรมภาพต่อขยาย ภาพต่อขยายเป็นของอาจารย์สุนทร ดาวประเสริฐ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นผู้ค้นคิดและพัฒนามาเรื่อย ผมนำมาใช้เพราะเห็นว่ามีจุดเรียนรู้มากมายนำมาเป็นกิจกรรมได้ดี ก่อนถึงกิจกรรมเรานำให้ผู้เข้าร่วมเล่นเกม หาผู้นำ (สิบยี่สิบสามสิบสี่สิบ) เพื่อให้เขาได้ทดลองทำ BAR ไปกลายๆ

เมื่อเริ่มกิจกรรมวาดภาพ เราไม่ได้แยกห้องในการปฏิบัติกิจกรรม จึงอดมีการเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในกิจกรรมผมเอา "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) ของการอบรมระดับ 10 เมื่อปี 2554 มาใช้ให้ทบทวนก่อนการทำกิจกรรม (BAR) กิจกรรมไม่มีพลังจนวิทยากรไร้พลังไปด้วย เราไม่ได้นำเสนอการถอดบทเรียนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และไม่ได้ให้เขียน  "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) แบบเฉพาะเจาะจงและนำไปปฏิบัติได้ จบกิจกรรมผมรู้สึกไม่ได้ผลตามที่ต้องการนำเสนอ

นำกลับมาคิดใหม่
ผมมาทบทวนดูและคิดว่าในรุ่นต่อไปจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง กลับมาถึงบ้านวันศุกร์ 23 เวลาประมาณ 20.00 น. ได้นอนบ้านสองคืนเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 ต้องเดินทางไปเขื่อนศรีนครินทร์เพื่ออบรมอีก 2 รุ่น น้องสมพรมารับที่บ้าน 06.50 น. ก่อนเวลานัด ผมถึงเขื่อนศรีนครินทร์เวลาประมาณ 16.30 น.
ยามเช้าที่บ้านพัก เอราวัณ เลค รีสอร์ท เขื่อนศรีนครินทร์
รุ่นที่สองและสามเป็นการอบรมนอกสถานที่ที่ปฏิบัติงาน มีการเดินทางมาในตอนเช้าวันอบรมวันแรกและกลับในตอนเย็นของการอบรมวันที่ 2 ผู้ปฏิบัติงานที่เข้าอบรมมีระดับไม่ต่างกันมากนักและเป็นผู้บริหารระดับกลางของหน่วยงาน จำนวนทั้งสองรุ่นประมาณ 70 คน
รุ่นที่สองเรามีการทบทวนร่วมกันในเย็นวันอาทิตย์ 25 และเช้าวันจันทร์ 26 โดยผมนำบทเรียนจากการนำเสนอรุ่นแรกที่เขื่อนสิรินธร มาปรับ รับทราบว่าคณะผู้เข้าอบรมจะมาถึงประมาณ 8.30 น. วางแผนแล้วลงมือปฏิบัติ คราวนี้ผู้เตรียมผู้เข้าอบรมมีทั้งวิทยากรของพื้นที่เอง 3 ท่าน หมอตุ๊ เอนก ทอม คณะผู้จัด 3 ท่าน คุณอรณี น้องปู น้องช่างภาพอีกท่านที่มาช่วยทำให้ Notebook เข้า Internet ได้ มีรถบริการสองคัน น้องป้อม และกวี

เมื่อเวลามาถึงผู้เข้าอบรมมาถึง 9.30 น. พิธีเปิดและ Check-in จบเมื่อ 10.30 น. เราเริ่มช้ากว่าแผนที่วางไว้ 1 ชั่วโมง จบครึ่งวันแรกด้วยผู้นำสิ่ทิศโดยคำถามแบบเดียวกับที่เขื่อนสิรินธรและคุยแบบประเภทเดียวกัน พักเที่ยงมีการนำเสนอผ่อนพักตระหนักรู้ฉบับแม่ชีวัดพลัมแปลไทยประกอบ ประมาณ 22 นาที บ่ายต่อด้วยหมวก 6 แบบ สนทนาเรื่องภาพต่อขยายแต่ให้บริหารเวลาเองและจัดให้มีคุณอำนวย คุณลิขิตจดแล้วนำเสนอ และจบวันแรกด้วยวงจรเรียนรู้ ของอาจารย์พินิจ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นการสนทนาครั้งที่สาม ให้ผู้เข้าอบรมที่เป็นหัวหน้าสนทนากันว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในหน่วยงานได้อย่างไร ในการสนทนาผมไม่ได้เน้นเรื่องหันหน้าเข้าหากันและกติกามากนัก บรรยากาศการสนทนายังไม่ได้ยกระดับ มีคนหายไปจากการอบรมจำนวนหนึ่ง วันที่สองเราเริ่มด้วยเกมผู้นำตามด้วยกิจกรรมภาพต่อขยาย เน้น BAR แบบ SARs จบด้วยการนำเสนอ "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) ผู้เข้าอบรมจากไปเวลา 15.30 น. หลังจาก Check-out ด้วยการกลับใจ ประธานการอบรม วศ.11 พงษ์เทพ อยู่ด้วยตลอดเป็นกำลังใจที่ดีมากสำหรับทุกฝ่าย ผมยังรู้สึกไม่มีพลังในการนำเสนอให้ได้ผล
ทบทวนอีกครั้ง อาจารย์อิ่ง และน้องวิทยากร ให้ความเห็นในการปรับผมทำ Powerpoint เพิ่มเติมและตัดบางส่วนออกไป

คราวนี้วางแผนว่าผู้เข้าอบรมจะมาถึงประมาณ 9.30 น. เป็นอย่างเร็วเราจะจบ Check-in และกิจกรรมประกอบในเวลา 10.30 น. เข้ามาแตะเรื่องโลกและจักรวาล มนุษย์และผู้นำสี่ทิศ

โดยปรับคำถามใหม่เป็นให้ตรงไม่กำกวม และให้สนทนาสัตว์ประเภทเดียวกันเราเป็นอย่างไร และจะมีสัมพันธ์กับสัวต์ต่างประเภทในฐานะ นาย เพื่อน ลูกน้องอย่างไร จบด้วยการนำเสนอของกลุ่ม ผู้เข้าอบรมมีกระทิง หมี และหนู เราแบ่งหนูออกเป็นสองกลุ่มเพราะมีเยอะมาก ตีระฆังแห่งสติและให้นั่งนิ่งๆ 1 นาทีก่อนคุย บรรยากาศเริ่มดีมีพลัง น่าจะมาถูกทางแล้ว จบครึ่งวันเข้ามี ผ่อนพักตระหนักรู้ เวลา 12.40 น. มีคนมาร่วมไม่มาก
ความคิดหกด้าน

 บ่ายเริ่มด้วยหมวก 6 ใบ คราวนี้เรานำหมวกและประเภทของหมวกมาให้สนทนากันทีละใบ โดยเราเป็นผู้กำหนดเวลาและเรื่องในการสนทนาให้ เวลาในการสนทนา 40 นาที แบ่งเป็น 5 นาทีแรกภาพรวมข้อตกลง 5 นาทีที่สองหมวกสีขาว ข้อมูลจริง 5 นาทีที่สาม หมวกสีแดง อารมณ์ความรู้สึก 5 นาทีที่สี่ หมวกสีเหลือง มองมุมบวกประโยชน์ 5 นาทีที่ห้า หมวกสีดำมองมุมลบอันตรายข้อควรระวัง 5 นาทีที่หก หมวกสีเขียว สร้างสรรค์หลุดโลก 5 นาที่ที่เจ็ด หมวกสีฟ้า ข้อสรุปสู่ความเป็นจริงที่จะนำไปปฏิบัติ 5 นาทีที่แปดสรุปนำเสนอ จบเบรคด้วยการนำเสนอ เริ่มเบรคบ่ายด้วยการทำกิจกรรมภาพต่อขยาย ซึ่งเราไม่ได้นำเกมผู้นำ(สิบยี่สิบสามสิบสี่สิบ)มาเล่นก่อน ให้นำ ข้อสรุปจากการคิดด้วยหมวก 6 ใบมาเป็นตัวตั้งอธิบายว่า หมวกแต่ละใบสัมพันธ์กับ ตาราง BAR แต่ละช่องอย่างไร เน้นการสนทนาด้วย 2 เปิด 5 ไม่

 จบวันแรกเวลาประมาณ 16.30 น. ด้วยภาพแรกของกิจกรรม ปล่อยให้ผู้เข้าอบรมพักและมาต่อกันในวันรุ่งขึ้น วิทยากรทบทวนร่วมกันเห็นพลังในการอบรมเพิ่ม วันนี้ฝนตก ผู้เข้าอบรมไม่หายจากห้อง เวลาทำกิจกรรมภาพต่อขยายปล่อยตามสบายไม่ให้เร่งเวลาเน้น  "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) วิทยากรช่วยกันดูแลตอบคำถามให้กับผู้เข้าอบรม



วันที่สองเริ่มด้วยกิจกรรมภาพต่อขยายครั้งที่สอง วันนี้มีวิทยากรจากเขื่อนศรีนคริทร์มาช่วยอีก น้องจิ๋ว ช่วยดูแลกลุ่มได้เป็นอย่างดีละเอียดมากจนกลุ่มกระทิงที่เสร็จรวดเร็วต้องช้าลง และกว่าจะจบได้ก็ร่วม 11.00 น. ในครั้งที่สองนี้เรานำ  "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) ที่เขียนไว้แล้วมาให้เป็นปัจจัยนำเข้าในการทำ BAR ครั้งที่สองด้วย จบกิจกรรมให้นำเสนอ  "ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติครั้งต่อไป" (SARs) ของแต่ละกลุ่มแล้วมาสรุปเรื่องอุปสรรคของการเรียนรู้ ตามด้วยวงจรเรียนรู้ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนพื้นที่ปลอดภัย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ไม่ผิดซ้ำ จบครึ่งวันเวลา 12.15 น. 12.40 น. มาผ่อนพักตระหนักรู้ที่มีแต่ ผมผ่อนพักตระหนักรู้คนเดียว สังเกตุแล้วเลยจบก่อนจบเพื่อไม่ให้เสียเวลาใจผู้เข้าอบรมไปอยู่ที่จะกลับแล้ว กลับใจและ Check-out จบเวลา 14.30 น. ทุกรุ่นก่อนจากวิทยากรของแต่ละที่จะทุ่มเททำภาพระหว่างอบรมเป็นของขวัญให้ตอนจบ
ผมก็ได้รับของขวัญและค่าตอบแทนจากการมาบรรยายครั้งนี้ด้วย นั่นเป็นเพียงส่วนเดียวสิ่งที่ได้รับมากคือการเรียนรู้จากผู้เข้าอบรม อาจารย์และวิทยากรร่วมรวมทั้งผู้จัด ได้เรียนรู้บางอย่างจากการเดินทางด้วย ส่วนอาจารย์อิ่งและน้องจิ๋วได้เฉพาะของขวัญ แต่น้องๆวิทยากรของเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นผู้จัดเองได้รับอย่างอื่นที่น่าจะคุ้มค่าในการร่วมงานกัน
ในการมาครั้งนี้ผมได้รับการติดต่อก่อนเกษียณ จากวิทยากร KM ของเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีด้วยกัน 5 ท่าน ใหญ่ บุญนาค หมอตุ๊ เอนก และทอม ใหญ่ย้ายไปกรุงเทพด้วยภาระ ใหญ่เป็นคนติดต่อผมและทอมประสานต่อ ผมคิดหลักสูตรนี้จากแรงบันดาลใจเมื่อมีการทบทวนการสอน KM ให้วิทยากร KM ของสายรวฟ. เมื่อก่อนผมเกษียณ ครั้งนั้นมีการสอน BAR แบบ ชฟฟ.3 ใช้กิจกรรมตะเกียบ โดยหลังจากที่ผมเห็นน้องๆ บรรยายแล้วมีความรู้สึกว่า ถ้าเราเพิ่มพื้นฐานการคิดถึงทุกระบบ ปรับรูปแบบการคิด และกระตุ้นพัฒนาการสู่ความเป็นเลิศของบุคคลได้ การร่วมกันคิด การมุ่งไปสู่เป้าประสงค์เดียวกันจะง่ายขึ้น การทำ BAR AAR ลปรร. ล้วนต้องการทักษะการประสานกันในการเรียนรู้ร่วมกัน บนเครื่องมือที่ผมเล่ามานั้น ที่สำคัญคุณจะให้ใครทำอะไรควรให้เขาศรัทธาที่จะทำมิใช่บังคับด้วยตัววัดต่างๆ
ผมเก็บของมาตั้งแต่เช้าแล้วพร้อมเดินทางออกจากเขื่อนศรีนครินทร์มาเวลา 15.00 น. ผมมาพักที่หน้า สนก.กฟผ. ถึงประมาณ 19.00 น. ได้น้องอ้วนที่แสนดีจองที่พักให้ ออกเดินทางมากับกวี ตั้งแต่ 07.30 น. ถึงบ้านลำปาง 14.00 น. โดยสวัสดิภาพ
BAR & AAR แบบอาจารย์สุนทร ดาวประเสริฐ โรงไฟฟ้่าแม่เมาะ

ทุกครั้งที่ออกแบบหลักสูตรลักษณะนี้เมื่อลงมือนำไปปฏิบัติจริงผมมีปัญหาอยู่สองสามประการ ได้แก่ ประการแรก เวลาที่ใช้มักจะไม่พอ ผมออกแบบสิ่งที่นำเสนอต้องใช้เวลาดูแล้วหลักสูตรนี้ถ้าจะนำเสนอให้ครบถ้วนจริงผมคิดว่าประมาณ 4 วัน ประการที่สอง การใช้คำนำเสนอ ผมใช้ภาษายังไม่เหมาะกับผู้เข้ารับการอบรม ใช้ภาษาของวิทยากรมากกว่าภาษาของผู้เข้ารับการอบรม ประการที่สาม การใช้คำถาม ผมยังไม่สามารถใช้คำถามที่เจาะจงถามแล้วผู้เข้าอบรมไม่ต้องถามย้อนกลับ ประการสุดท้าย ถ้าผมไม่มีผู้ร่วมสะท้อน ไม่มีผู้คอยสังเกตุและช่วยปรับผมคงไปไม่รอด ผมยังต้องการทีมมากกว่าทีมต้องการผมกระมัง นี้เป็นปัญหาประการสุดท้ายที่คิดได้แต่เมื่อคิดได้อีกผมจะเรียนรู้อีกต่อไป
ที่เล่ามานั้นเป็นเพียงบางส่วน ของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น หากระลึกได้อีกผมจะนำมาเสนอให้ทราบต่อ