วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลายทางของความคิด สร้างชีวิต ด้วยการกระทำ

เราแสวงหาอันใด

เห็นจุดเริ่มต้นของตัวตนเราไหม ทบทวนให้ดีว่าเราคือใคร ทีหายใจอยู่ทุกวันนี้รู้กฏของชีวิตไหม รู้และเข้าใจอย่างแท้จริงนะ ถ้ารู้แล้วเราก็จะวางใจได้ถูกต้อง มองเห็นเป้าหมายใช้ชีวิตไปให้ตรงกับเป้าหมายของเรา เป็นอยู่อย่างราบรื่นด้วยเลือกสัมพันธ์กับสิ่งที่ดี ทั้งหมดอยู่ที่ใจของเรา (สรุปจากเข็มทิศชีวิต)
บ่อยครั้งที่ธรรมดาธรรมชาติของมันไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เราบังคับทุกอย่างให้เป็นอย่างใจเราไม่ได้ แต่เราสามารถฝึกใจ ให้วางใจเท่าทันธรรมชาติ ตัดสินใจเลือกการกระทำแต่ละขณะ ด้วยความรู้สึกตัว ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
(คัดลอกจาก หน้า 203 หนังสือ เข็มทิศชีวิต โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 51 มีนาคม 2551 จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น 460,000 เล่ม)

คุณฐิตินาถ ณ พัทลุง เขียนหนังสือมี Website ผมติดตามอ่าน เข็มทิศชีวิต มาตั้งแต่ปี 2551 เล่มแรก และต่อมาเมื่อพบหนังสือของเธอ ผมก็จะแสวงหามาอ่าน เข็มทิศชีวิตเล่มแรก ให้คำนิยามว่า แผนที่ดูจิต บริหารชีวิต สู่อิสระทางการเงินและจิตใจ เข็มทิศชีวิต 2 เป็นตอนกฎแห่งเข็มทิศ พูดถึง ความสุข ความสำเร็จและความรัก คุณต้องรู้ว่าอะไรกำลังบงการอยู่เบื้องหลังสิ่งต่างๆ แล้วมีความเห็นที่ถูกต้องต่อสิ่งนั้นแล้วจึงจะเกิดการกระทำที่ถูกต้อง
ทุกอย่างเกิดขึ้นเพื่อเปิดเผยความจริงของโลก ความจริงในใจเราเอง...
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุจากจิต เป็นไปเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงในจิต ภาวะชีวิตที่สมบูรณ์เป็นสุข มั่นคง เป็ฯอิสระจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมีอยู่ในเราทุกคนอยู่แล้ว ...
...เราทุกคนมีทุกอย่างเพียงพอ คู่ควรกับชีวิตที่ดี มีความสุข ความสำเร็จ มีใจที่มั่นคง เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง
(บางส่วนจาก หน้า 230-231 หนังสือ เข็มทิศชีวิต 2 โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2551 จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น 120,000 เล่ม)
ในปี 2552 เดือน ธันวาคม เธอออกหนังสือ เข็มทิศชีวิต 3 กฎแห่งความสุข ทุกอย่างเกิดขึ้นเพื่อส่งชีวิตเราไปอยู่ในจุดที่ดีที่สุดเสมอ เพียงเรารู้วิธี (พิมพ์ครั้งแรก 150,000 เล่ม)
วงจรชีวิต 
ใช้เข็มทิศ 
รู้ถูก     รู้ทันว่าอะไรกำลังบงการเราอยู่
เห็นถูก เข้าใจชีวิต ตั้งเป้าหมายที่ดีกับชีวิตจริงๆ (ส่งที่คนทั่วไปอยากได้ อาจไม่ใช่สิ่งที่ชีวิต  ต้องการ)
ทำถูก  ทำสิ่งที่ตรงตามเป้าหมาย (สิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผล หยุด อย่าทำ)
(คัดลอกจาก หน้า 268 หนังสือ เข็มทิศชีวิต 3 โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2552 จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น 150,000 เล่ม)
เมื่อตอนผมย้ายไป ทำงานที่ นนทบุรี คุณฐิตินาถ ได้ก้าวหน้าไปในการค้นหาชีวิต และการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น กรกฎาคม 2554 เธอออกหนังสือ เข็มทิศชีวิตจิตใต้สำนึก  สิ่งที่เราอาจไม่รู้ว่าเราไม่รู้ สิ่งที่เราชื่อในจิตใต้สำนึกกำหนดชีวิตของเรา เล่มนี้มี DVD แถมให้ด้วยเป็นเรื่องของครูอ้อย และกิจกรรมที่ทำ ตอนนี้ เธอมี บริษัท เข็มทิศ เอ็นแอลพี จำกัด มีหลักสูตร เข็มทิศจิตใต้สำนึก ซึ่งสร้างชีวิตใหม่ผู้คนมากมาย
ลองไปดูใน Youtube ได้นะครับ
ตอนนี้เธอออกหนังสือ เข็มทิศชีวิต 5 มั่งคั่ง ผมไม่ได้หามาอ่าน อาจเพราะไม่แสวงหาความมั่งคั่งแล้ว

เราจะแสวงหาอันใด ไม่ควรแสวงหานอกกายของเรานี้เพราะกายนี้เป็นที่สถิตของใจ หากใจล่องลอยไป กายไม่อาจติดตามให้ใจกลับมาได้ ใจต้องกลับเอง

ผมเชื่อว่าผู้แสวงหาย่อมพบเจอ เจอสิ่งที่ตนแสวงหานั้น
ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรบงการเราก็ได้ ไม่ต้องย้อนกลับไปก็ได้ ทำปัจจุบัน ให้ตรงตามจริง ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข เลือกสนองตอบอย่างตั้งใจ ไม่เบียดเบียน เป็นคนธรรมดาสามัญไม่ต้องมีชีวิตโลดโผน

ทดสอบดูว่าเรามั่นคงไหมด้วย เมื่อสิ่งที่มากระทบไม่เป็นที่ปรารถนา เรามั่นคงหรือเสียใจ เมื่อสิ่งที่มากระทบเป็นที่ปรารถนา เรายินดีหรือเฉยๆ

การสร้างพลังในตนเองนั้นยังมีอีกหลายท่านที่ทำกิจกรรมเหล่านี้
โค้ช สิริลักษณ์ ตันสิริ
/

ลองไปแวะเพื่อศึกษาดูนะครับ
นี่อีกคนครับที่จุดประกายชีวิตได้
 บัณฑิต อึ้งรังษี

คนที่ประสพผลสำเร็จเหล่านี้มีไม่มากนะครับ แต่คนธรรมดามีเพียบ
ลองดูคนนี้ก็ได้นะครับ ผมติดตามมาตั้งแต่ยังไม่บวช ตอนนี้บวชยังไม่สึกครับ
ท่านก็มีอบรมธรรมมากมายครับ และหาดูและฟัง ทาง Youtube ได้เยอะแยะครับ

ดังนั้นหากใจเรามั่นคงไม่ไหวหวั่น เรียกว่าศรัทธามั่นคงเห็นตรงในความเป็นจริง เพียรพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิต รักษาสิ่งที่เป็นประโยชนกับชีวิตที่มีแล้ว แสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตที่ยังไม่มี ระวังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่ให้เข้ามาในชีวิต ระลึกรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เข้ามา พิจารณาแยกแยะให้เห็นว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งที่มีนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วแค่ตั้งอยู่เดี๋ยวก็ดับไป ยึดถือไว้ไม่ได้ พากเพียรบ่มสอนตนเอง ความยินดีในความเห็นนั้นย่อมเกิดขึ้น แล้วเราก็ตั้งอยู่ในความสงบสบายมีสุขเป็นฐานที่อยู่แห่งใจ ยามนั้นความเป็นหนึ่งเดียวในธรรมดานั้นย่อมตั้งอยู่เพียงอย่างเดียว ความตั้งไว้ไม่หวั่นไหวนั้นย่อมสร้างปัจจุบันที่เป็นสุขแล้ว ด้วยความไม่เอนเอียงเป็นกลางจึงส่งปิติสุขมาให้นับอนันต์

ด้วยจิตนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง ความจริงจึงเกื้อกูล ความสงบเป็นสิ่งประจำใจ ไม่หวั่นไหวขึ้นลง

                     นตฺถิ  ราคสโน  อคฺคิ         นตฺถิ  โทสสโม  กลิ
                     นตฺถิ  ขนฺธาทิสา  ทุกฺขา     นตฺถิ  สนฺติปรํ  สุขํ.

                    " ไฟเสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี, โทษเสมอด้วย
                     โทสะ ย่อมไม่มี, ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์
                     ย่อมไม่มี,    สุขอื่นจากความสงบ   ย่อมไม่มี."
ที่มา: พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓
หากไม่ไปอบรมลองวิธีนี้นะครับ  เพื่อความสุขจงฝึกตน  เป็นอีกวิธีที่ฝึกตนได้นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความคิด

เราคิดอย่างไร
เราทุกคนแทบจะไม่ว่างจากความคิดเลย ไม่ว่ายามหลับ หรือยามตื่น
น่าประหลาดใจนะ ว่าความคิดมาจากไหน เราเกิดมาพร้อมกับประจุความคิดใช่หรือไม่ แล้วความคิดอยู่ที่ไหนในส่วนไหนของเรา
... "วิญญาณนั้นเมื่อไปในตัวมนุษย์แล้วก็มีสำนักอยู่ในมันสมอง แลพิจารณากายภายนอกจากสำนักนั้น"...
(คำรับสั่ง พระวิกรมาทิตย์ จากหนังสือ  นิทานเวตาล -- กรุงเทพ : บันทึกสยาม  2543 หน้า 221)
แล้วความคิดเป็นไปตามอัตโนมัติ หรือเป็นไปตามที่เราฝึกฝนทำมันขึ้นมา

เราเกิดมาเราจำความได้ตั้งแต่เมื่อใด ความตอนเด็กๆ เราจำได้เองหรือจำจากที่แม่ พ่อ ญาติ พี่น้อง เล่าให้ฟัง ความจำเหล่านั้นสร้างความยินดีหรือความเจ็บปวด แล้วเรายึดติดกับความยินดีหรือความเจ็บปวดนั้น เมื่อเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมมาถึงอีกครั้งหนึ่งเราเรียกความจำเหล่านั้นมาใช้หรือไม่ การยินดีทำให้เราผลิตซ้ำเหตุการณ์น้้น และความเจ็บปวดทำให้เราป้องกันและปิดกั้น อย่างนั้นหรือไม่ เราคิดและตัดสินใจทำอย่างนั้นได้อย่างไร ทำไมเราคิดอย่างนั้น

เมื่อเราดำรงชีวิตอยู่ในโลก อยู่ในครอบครัว อยู่ในโรงเรียน อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม การคิดของเราถูกสั่งสมมาจากสัมผัสต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ ก่อตัวเป็นวิธีคิดของเรา วิธีคิดที่เป็นแบบเรา ไม่เหมือนใครในโลก และใครในโลกนี้ไม่ได้มีองค์ประกอบอย่างเราก็คิดต่างกัน ทำให้การตัดสินใจ และการกระทำของคนจึงไม่เหมือนกัน

ในสังคมไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน สังคมอื่นๆ เราต้องคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน จึงดำรงอยู่ได้ในโลกที่เป็นจริงอย่างไม่ขัดแย้ง กรอบ ระบบ มุมมอง ถูกสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมามากมาย แล้วด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจึงมักเห็นสิ่งที่ผ่านการผลิตซ้ำของทฤษฎี กฏเกณฑ์ ได้รับการยกย่องมากกว่า ประสพการณ์ จินตนาการ และความกล้า เราเรียกวิธีที่ผ่านการผลิตซ้ำนี้ว่าวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือความคิดอย่างเป็นระบบ หรือ ความคิดสร้างสรรค์ หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามมันเป็นความคิดโดยแท้

ความคิดสร้างสรรค์ ของคนในอดีตนำพาประวัติของมนุษยชาติมาจนมีอะไรมากมายในทุกวันนี้ แต่ความคิดที่มาจากฐานรากของคนในแต่ละถิ่นก็ต่างกัน เราสร้างสรรค์กันคนละแบบ ดังนั้นไม่ว่าจะนิยามใดศึกษาแบบใดก็ต่างกันไปบนสมมุติฐานของแต่ละการศึกษานั้น  ความคิดสร้างสรรค์บางอย่างก็สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสังคมโลกนี้ จากสังคมเกษตรกรรม ผ่านอุตสาหกรรม มายังเทคโนโลยีสื่อสาร และมีคนบอกว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมอุดมปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติไม่เคยหยุดนิ่งสร้างสิ่งรับใช้เราตลอดมา แต่เราก็คิดมันจากวิธีที่ต่างกัน
แนวคิดต่อคำว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ของอังกฤษ (และชาติตะวันตก) กับของจีน (และชาติตะวันออก) ต่างกันตรงที่โลกตะวันตกมักให้คุณค่ากับอิสรภาพและการแสดงออกทางความคิดของ ปัจเจกชน (เห็นได้จากปรัชญายุคกรีกเรื่อยมาจนถึง Existentialism ของ Jean-Paul Sartre) ขณะที่โลกตะวันออก (ซึ่งมีพื้นฐานสังคมแบบเกษตรกรรมมักให้คุณค่ากับความสามัคคีและการพึ่งพา อาศัย เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ)
 | อ้างอิงจาก จีนรู้ทัน ลอกฝรั่งทั้งดุ้นไม่เวิร์ค : เน้นพัฒนา “ความคิดสร้างสรรค์แบบกลุ่ม” (Collective Creativity) ประยุกต์เป็นยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจชาติ http://www.tcdcconnect.com/content/detail.php?ID=3702&sphrase_id=169418|

ประดิษฐกรรมเกี่ยวกับความคิดมีมากมายหลายแบบสิ่งต่างๆ ที่เราใช้อยู่เป็นประดิษฐกรรมเกี่ยวกับความคิดทั้งสิ้น ภาษา อักษร เครื่องมือ เครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ

ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเป็นระบบ คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีผู้คิดค้นให้เราฝึกฝนมากมาย แล้วจริงๆ มันมาจากการฝึกฝนหรือเป็นอัตโนมัติ พากเพียรหรือผุดบังเกิด พรแสวงหรือพรสวรค์ เวลาเราคิดร่วมกัน เราคิดได้อย่างไร

คนตะวันออกและคนตะวันตกคิดแตกต่างกัน คนตะวันออกในแต่ละที่ก็คิดแตกต่างกัน คนในที่เดียวกันคนละวัยก็คิดแตกต่างกัน คนวัยเดียวกันคนละเพศ คนละฐานะ คนละอาชีพ คนละสังคม ก็คิดแตกต่างกันดูเหมือนแม้มีวิธีเดียวกัน ศึกษาเล่าเรียนมาพร้อมกัน เวลาคิดร่วมกันก็ยังมีความแตกต่างกัน

แม้แต่ครอบครัวที่มีชีวิตอยู่ร่วมกัน ยังคิดไม่เหมือนกัน การคิดร่วมกันไม่ได้เป็นระบบหรือเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริง เท่าที่นักคิดทั้งหลายบัญญัติขึ้น ยังคงเป็นไปตามใครตามมัน แบบอย่างของใครของมัน

เมื่อเรามาทำงานร่วมกัน งานในแต่ละยุคสมัย แต่ละช่วงเวลาก็เปลี่ยนไป งานผันแปรตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน ความรักในการทำงานลงมือลงแรงลงความคิดในงานก็เปลี่ยนไปด้วย องค์กรที่ทันสมัยวางระบบต่างๆ ไว้เพียบพร้อมคนที่เข้ามาทำงานยุคอุตสาหกรรมแรกเริ่มแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในความคิดแต่ใช้แรงงานในการทำเท่านั้นเมื่อระบบ เครื่องจักรเริ่มเสื่อม เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก องค์กรปรับไม่ทัน หันรีหันขวางไปมาทางที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ได้เร็วก็ต้องพึ่งคนที่รู้จักงานที่ทำและมีความคิดปรับปรุงงานของเขาให้มีคุณภาพ เขาทำงานได้สบายขึ้น คนทำงานจึงมีความหมายขึ้นมากในการนำเข้าเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จากเดิมประสพการณ์ จินตนาการ และความกล้าที่ได้นำมาใช้ในการทำงานจึงต้องพัฒนามาเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อการปรับปรุงงาน

ความคิดอย่างเป็นระบบของการปรับปรุงงาน มีหลายค่ายหลายสำนัก หลายตัววัด หลายแนวทางแต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไรคนที่ทำงานคิดอย่างไร หากคนทำงานคิดจะปรับปรุงแล้วคนทำงานน้้นจะได้หาหนทางเอง และไม่เกินความสามารถในการค้นคว้า


มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ
ฉายาว อนปายินี ฯ2ฯ
ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์
ความสุขย่อมติดตามเขา
เหมือนเงาติดตามตน
Mind forerunr all mental conditions,
Mind is chief,mind-made are they;
If one speaks or acts with a pure mind,
Then happiness follows him
Even as the shadow that never leaves